แผนที่ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ

# ปรับปรุง

View Project

ภูมิหลัง

ปัญหาการจราจรติดขัดของกรุงเทพฯนั้นเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2525 หลังจากเมืองและปริมาณรถยนต์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มันเป็นสิ่งที่ต้องประสบอยู่ทุกวันตั้งแต่ปี 2537 ถึง 2547 ในสมัยที่ผมเป็นนักเรียนประถมและมัธยม ตอนนั้นระบบรถไฟฟ้าระยะแรกเริ่มก่อสร้างและเปิดให้บริการ นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นสำหรับเด็กชายคนหนึ่งที่ย้ายมาจากเมืองนอกที่เคยนั่งแต่รถเมล์

เว็บ 2Bangkok.com ของคุณ Ron Morris เป็นแหล่งข่าวความคืบหน้าระบบขนส่งกรุงเทพแห่งเดียวในเน็ตที่เป็นภาษาอังกฤษ ผมเปิดดูเว็บนี้ทุกวันเพื่อติดตามข่าวแปลและบทวิเคราะห์จากคุณวิศรุต พลสิทธิ์ ผมยังเคยส่งข้อมูลไปให้เขาโพสต์ในเว็บด้วย

แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร 2537, วาดใหม่โดยวิศรุต พลสิทธิ์ จากวารสารผู้จัดการรายสัปดาห์ 2538 (2Bangkok.com 2543)
แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร 2537, วาดใหม่โดยวิศรุต พลสิทธิ์ จากวารสารผู้จัดการรายสัปดาห์ 2538 (2Bangkok.com 2543)

อนาคตของรถไฟในกรุงเทพเริ่มเป็นรูปเป็นร่างเมื่อรถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดให้บริการและรถไฟใต้ดินเข้าสู่การก่อสร้างอย่างจริงจัง ผมอยากเห็นอนาคตจึงเริ่มศึกษาแผนต่างๆ จากเว็บ 2Bangkok เพื่อรวบรวมทำเป็นแผนที่

แผนที่ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพในอนาคต วาด 2544 โอฬาร วิริยินทรีย์
แผนที่ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพในอนาคต วาด 2544 โอฬาร วิริยินทรีย์

สิ่งที่น่าสนใจในแผนที่นี้คือ รถไฟวงแหวนของ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าการกรุงเทพมหานครในยุคนั้น ที่เป็นเพียงแผน ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ยกเลิกแล้วเปลี่ยนให้สายอื่นมาทดแทน เช่น สายแยกสาทร-พระราม 3 ที่ปัจจุบันเป็นสายรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ หรือ BRT ส่วนต่อขยายไปปิ่นเกล้าที่ปัจจุบันสายสีส้มแทนบางส่วน และส่วนต่อขยายไปมหาชัยที่ซ้อนทับโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ผมยังเพิ่มเส้นทางรถไฟใต้ทางด่วน

จำไม่ได้ว่าแผนที่นี้เป็นฉบับแรกหรือไม่ ผมไม่ค่อยจะมีอะไรเหลือจากยุคนั้นแล้ว คิดว่าตอนนั้นผมพิมพ์แผนที่และวางกระดาษเปล่าทับแล้ววาดเส้นตาม

ผมว่าแผนจากปี 2538 อ่านยาก จึงอยากวาดใหม่

ผังระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ฉบับที่ 3) 2545 โอฬาร วิริยินทรีย์
ผังระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ฉบับที่ 3) 2545 โอฬาร วิริยินทรีย์

ไม่รู้ว่าฉบับที่ 1 และ 2 หายไปไหน ผมมีแต่ฉบับที่ 3 จากปี 2545 ในปีนั้นผมไปเที่ยวสิงคโปร์และเห็นแผนที่ระบบของเขาที่อยากทำตาม ซึ่งแผนที่ของเขาเลียนตามแผนที่ของลอนดอนที่ออกแบบโดยนาย Harry Beck ถึงกับขนาดใช้ฟอนต์ของเขาในส่วนภาษาอังกฤษ แต่มีหลายอย่างที่ผมไม่ได้นำมาใช้เช่นรหัสสถานี ผมยังใช้ Illustrator ไม่เป็น จึงใช้ PowerPoint ไปก่อน

ในปี 2547-2548 มีแผนที่คุณภาพสูงสองฉบับออกเผยแพร่ที่ผมคิดว่ามีอิทธิพลกับการออกแบบแผนที่รถไฟกรุงเทพจากนั้นเป็นต้นไป

แผนที่ ITINC, 2546, วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์
แผนที่ ITINC, 2546, วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์

แผนที่ “If There is No Corruption” [ถ้าไม่มีการทุจริต] (ITINC) ของคุณวิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ เป็นงานศิลปะ ที่ผสมเส้นทางในปัจจุบันกับโครงการในแผนกับความคิดของผู้ออกแบบเพื่อแสดงระบบขนส่งมวลชนที่กรุงเทพสร้างไม่สำเร็จ ในปี 2546 ได้พิมพ์และแจกแผนที่ 5,000 ฉบับ แผนที่นี้ออกแนวผสมสไตล์ของลอนดอนกับปารีส

แผนที่ ITINC บนผนังของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 2553 ภาพถ่าย โอฬาร วิริยินทรีย์
แผนที่ ITINC บนผนังของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 2553 ภาพถ่าย โอฬาร วิริยินทรีย์

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของแผนที่ ITINC คือการวาดคลองแสนสาบเป็นทั้งลำนำ้เช่นเดียวกับแม่นำ้เจ้าพระยาและบริการเรือในคลองเป็นเส้นทางขนส่งมวลชน “สาย 9” นอกจากนี้ยังอิงประเพณีไทยอย่างขบขัน เช่น เทศกาลสงกรานต์และเวียนเทียน

ในขณะที่ ITINC เป็นงานศิลปะออกแนวทำให้คิด แผนที่ถัดไปของคุณ zoowatch (Chatchawal Phansopa ขออภัยไม่พบชื่ออักษรไทย) นั้นพยายามจะวาดแผนที่ที่ตรงความเป็นจริงที่สุด

แผนที่ระบบขนส่งทางรางกรุงเทพฯ 2548 zoowatch
แผนที่ระบบขนส่งทางรางกรุงเทพฯ 2548 zoowatch

ยังเขียนไม่เสร็จ